เรื่อง มหาปราบ กับ พระยาว่าน ต่างกันอย่างไรครับ

www.WARN108.com

1) "ว่านมหาปราบ" จัดเป็นว่านที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง จึงมีจารึกมาในตำราว่านยุคเก่า(พ.ศ.2473-2516)อยู่ถึง 10 เล่มจากจำนวนทั้งหมด 12 เล่ม ทุกเล่มบอกเหมือนกันหมดว่าว่านมหาปราบนี้ เป็นว่านที่มีอานุภาพมากมีสรรพคุณในทางคงกระพันชาตรีเป็นชั้นเลิศดี 1 ในกระบวนว่านที่อยู่ยงคงกระพันด้วยกัน (พูดง่ายๆ ว่าเป็นสุดยอดของว่านเหนียว เหนียวกว่าว่านเหนียวทุกชนิดนั่นแหละ)
- ลักษณะที่จารึกมาในตำราเก่าคือ  ต้นใบเหมือนขมิ้นชัน(หัวคล้ายขมิ้น) ก้านแดง ครีบแดง (ใบแดง-ยอดแดง) ท้องใบเป็นขน สีทอง หลังใบขาว
*** ข้อความที่อยู่นอกวงเล็บคือลักษณะที่ตำราทั้ง 10 เล่มบอกไว้ตรงกัน ส่วนข้อความภายในวงเล็บคือลักษณะที่ตำราบางเล่มบอกรายละเอียดบางอย่างไว้แตกต่างออกไปจากตำราเล่มอื่นๆ
- ตำราเก่าท่านบอกไว้สั้นๆ เพียงเท่านี้ครับ ไม่ได้บอกด้วยว่าเนื้อในหัวสีอะไร ไม่ได้บอกว่าร่องกลางใบแดงแต่ตรงกันข้ามกลับระบุไว้ชัดว่าหลังใบขาว(ซึ่งตีความได้ว่าด้านบนของใบนั้นต้องเขียวทั้งหมดไม่ใช่มีร่องแดง) ที่สำคัญที่สุดก็คือที่ระบุว่า "ท้องใบเป็นขน สีทอง" หมายความว่าใต้ใบต้องมีขนยาวนุ่มมือ(แบบเดียวกับว่านพระตะบะ และว่านมหากำลัง) และขนหรือใต้ใบต้องเป็นสีทอง(แดงอมเหลือง) ด้วย
- ด้วยลักษณะสำคัญข้อสุดท้ายนี่แหละครับ ที่ทำให้เราหาว่านมหาปราบตัวจริงที่ถูกต้องตรงตามตำราไม่ได้ (เข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว) จึงหันมาเล่นต้นในภาพ คห.2 ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแทนอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนลักษณะอื่นๆ ที่เขียนไว้ในตำราว่านยุคหลัง พ.ศ. 2520 เกือบทุกเล่มนั้น ท่านนำเอาลักษณะของต้นใน คห.2 มาเขียนบรรยายเอาเองครับ
*** สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นต้นของเจ้าของกระทู้ หรือต้นใน คห.1-2 หรือต้นไหนๆ ที่ขายและเล่นหากันอยู่ในปัจจุบันล้วนเป็นว่านมหาปราบตัวปลอมทั้งสิ้นครับ ถ้าไม่เชื่อตาเชยก็ลองเอาหัวว่านมาเคี้ยวกินแล้วลองเอามีดโกนเชือดลูกกระเดือกตัวเองดูก็ได้ครับว่าจะเข้าหรือไม่เข้า (ลองที่ท้องแขนก่อนก็ได้ แฮ่ะ แฮ่ะ)
ปล. ว่านมหาปราบต้นแท้นั้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนตาเชยเคยได้มาเลี้ยงอยู่พักนึง น่าเสียดายที่ทำตายไปแล้ว เนื้อในหัวเหลืองนวลๆ และมีกลิ่นหอมเย็นคล้ายกลิ่นของหัวว่านม่วงหรือขมิ้นขาวชนิดที่ใข้หัวกินเป็นผักน่ะแหละ

2) "พระยาว่าน" เรื่องแปลกแต่จริงก็คือตำราว่านเก่าในยุค พ.ศ.2473-2503 (ทั้งหมด 6 เล่ม)นั้นไม่มีการกล่าวถึงพระยาว่านเลยมีแต่จ่าว่านครับ

ชื่อพระยาว่านเพิ่งจะมาปรากฎขึ้นครั้งแรกในตำราของพยอม วิไลรัตน์ จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2504 โดยแยกออกจากจ่าว่านเป็นคนละต้นอย่างชัดเจน
- ลักษณะที่บันทึกไว้คือ ต้น-ใบ-หัว คล้ายขมิ้น ต้นสีแดง กระดูกใบแดง สังเกตนะครับว่าบอกไว้เพียงสั้นๆ และไม่ได้ระบุว่าเนื้อในหัวมีสีอะไร

แต่ตำราเล่มถัดมา(อุตะมะ สิริจิตโต พ.ศ.2505) กลับเรียกว่านต้นนี้ว่าจ่าว่านและวงเล็บไว้ว่าจัดเป็นชั้นพระยาว่าน ส่วนจ่าว่านแยกเป็นอีกต้นหนึ่งต่างหาก

เล่มถัดมา(อาจารย์ชั้น หาวิธี พ.ศ.2506) กลับเรียกว่านต้นนี้ว่าขมิ้นทอง โดยแยกออกมาจากจ่าว่านเป็นคนละต้นกัน

ถัดมาเป็นตำราเล่มสำคัญ เพราะนักเล่นว่านในยุคกลางๆ ต่างก็ใช้ตำราเล่มนี้เป็นหลักอ้างอิงกันทั้งนั้น คือตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน ของสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย เรียบเรียงโดยนายเลื่อน กัญหกาญจนะ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2506 (ที่ว่าสำคัญเพราะได้รวบรวมว่านจากบรรดาตำราทั้งหมด 9 เล่มที่ได้จัดพิมพ์มาก่อนหน้านี้มาไว้ในเล่มนี้ทั้งหมด) ตำราเล่มนี้กลับมาเรียกว่านชนิดนี้ว่าพระยาว่านและรวมเรียกว่าจ่าว่านในต้นเดียวกัน โดยจ่าว่านต้นเดิมที่มีบันทึกมาในตำราทุกเล่มก่อนหน้านี้กลับหายไปเฉยๆ

เล่มสุดท้าย(ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ พ.ศ.2512) กลับมาเรียกพญาว่าน โดยแยกออกจากจ่าว่านต้นเดิมอย่างชัดเจน
- ตำราเล่มนี้บอกลักษณะไว้ว่า ลำต้น-ใบ คล้ายขมิ้น ลำต้นสีแดง กระดูกกลางใบแดง เนื้อในหัวสีขาวหม่น รสฉุนร้อนเล็กน้อย ซึ่งลักษณะพญาว่านต้นที่บรรยายไว้นี้ก็คือต้นที่เราเล่นเป็นมหาปราบ(ภาพ คห.2) กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง (อีกทั้งตำราว่านของสมาคมว่านแห่งประเทศไทยก็ระบุว่ามหาปราบต้น ในภาพ คห.2 ก็คือต้นเดียวกับพระยาว่าน

เรื่องของพระยาว่านนี้อ่านแล้วออกจะงงๆ อยู่นะครับ เพราะแม้แต่ตำราเก่าเองคนละเล่มก็ยังว่าไปคนละทิศคนละทาง ก็ขอให้ลองอ่านช้าๆ หลายๆ เที่ยว แล้วพิจารณาดูก็จะเข้าใจเอง

*** สรุปเรื่องพระยาว่านตามที่ระบุไว้ในตำราเก่าได้ดังนี้
1) ถ้าถือตามตำรา อ.พยอม และ ร.ต.สวิง พระยาว่านก็คือต้นที่เราเอามาเล่นเป็นว่านมหาปราบกันอยู่ในปัจจุบันนี่เอง (ต้นแดง ก้านใบแดง ร่องกลางใบด้านบนแดง หัวมีสีขาว)
2) ถ้าถือตามตำรา อ.ชั้น และ อ.เลื่อน พระยาว่านก็คือต้นที่เรียกขมิ้นทอง หรือที่เราเอามาเล่นเป็นจ่าว่านอยู่ในปัจจุบันนี่เอง (ต้นนี้จะแตกต่างจากต้นในข้อ1 ตรงที่ร่องกลางใบด้านบนไม่แดง แต่กลับไปแดงอยู่ที่เส้นกระดูกใต้ใบยาวเกือบตลอดถึงปลายใบ และหัวสีเหลือง)
3) ถ้าถือตามตำรา อ.อุตะมะ และ อ.เลื่อน คำว่าพระยาว่านหรือพญาว่านนี้ไม่มีต้นเฉพาะแน่นอน แต่เราใช้เรียกว่านอะไรก็ได้ที่มีสรรพคุณเหนือกว่าว่านชนิดอื่นๆ ดังที่ตำรา อ.เลื่อน บันทึกไว้ว่า จ่าว่านก็เป็นพญาว่าน ว่านนางคำชนิดหัวเขียวก็ถึอเป็นพญาว่าน ว่านขอทองก็อยู่ในชั้นพญาว่าน หรือแม้แต่ขมิ้นอ้อยก็จัดเป็นพญาว่านชนิดหนึ่งด้วย


ข้อมูลจาก Pantip.com
http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2009/10/J8472329/J8472329.html

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม